วันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

10 SME ที่ต้องทำก่อนบุก “เมียนมา”


เริ่มต้นได้ใน 10 ขั้นตอน พร้อมข้อควรระวังอะไรบ้างก่อนลงทุนในเมียนมา เชื่อได้ว่าฉลุย
ในฐานะคนค้าขายเมื่อมาถึงจุดหนึ่งย่อมมีความคิดที่จะขยายตลาด และหากมองไปที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยหลายคนมักเริ่มจากชายแดน และโซนใน CLMV ซึ่งหนึ่งในประเทศที่น่าสนใจในสายตาชาวเรา SME คงหนีไม่พ้น ‘เมียนมา’

อย่างที่ทราบกันดีว่าหลังจากการเลือกตั้งครั้งสำคัญ ทำให้เสถียรภาพทางการเมืองเริ่มนิ่งมากขึ้น การเปิดประเทศจึงถูกจับตามองจากทั้งไทย จีน ญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐฯ ภายใต้การผลักดันของนางอองซานซูจี ผู้ทำหน้าที่ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเมียนมาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหน่วยราชการโดยมีการปรับลดจำนวนกระทรวงลงจากเดิม 36 กระทรวง เหลือเพียง 21 กระทรวง เป็นการลดงบประมาณแผ่นดินและความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน

ไม่เพียงเท่านั้นอองซานซูจียังมีการวางนโยบายสนับสนุนให้แรงงานเมียนมาย้ายกลับมาทำงานในประเทศเนื่องจากเกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน วางนโยบายระยะยาวให้กับภาคเกษตรกรรม ในการรู้จักสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร และส่งเสริมการส่งออก โดยพัฒนานโยบายและกฎระเบียบทางการค้าฉบับใหม่ รวมอยู่ภายในกฎหมายเดียวกันกับกฎหมายการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนเมียนมาเข้าด้วยกัน

นับว่าการดำเนินงานรูปแบบนี้ทำให้เมียนมากลายเป็นประเทศที่น่าสนใจ ยังไม่รวมการที่รัฐบาลเมียนมาผ่อนปรนกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการค้าและการลงทุนมากขึ้น สำหรับผู้ที่สนใจอยากลงทุนในเมียนมาสามารถเริ่มต้นได้ใน 10 ขั้นตอนต่อไปนี้

1. แผนธุรกิจ
สำหรับ SME บางครั้งการวางแผนธุรกิจอาจไม่เคยทำ และเวลาที่ SME ทำแผนธุรกิจ โดยความผิดพลาดของนักธุรกิจไทยมักจะมาจาก 2 สาเหตุหลักใหญ่ๆ สาเหตุแรกคือ เห็นเขาทำแล้วรวยเลยทำตามซึ่งจะทำให้เกิดภาวะอุปทานมากกว่าอุปสงค์ จนนำมาสู่ความผิดพลาดทางธุรกิจ สาเหตุที่ 2 คือ การขายของตัดราคากันเอง จนในที่สุดธุรกิจเจ๊งทั้งคู่ เพราะฉะนั้นนักธุรกิจส่วนใหญ่รู้เรื่องอุปทานสินค้าของตนเองดีอยู่แล้ว แต่ยังไม่รู้ด้านของอุปสงค์ ซึ่งอุปสงค์จะรู้ได้มาจากปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นแผนธุรกิจต้องมีการครอบคลุมด้านอุปสงค์ด้วย เช่น สีบางสีใช้ไม่ได้ในบางประเทศอย่างในเมียนมาสีส้มใช้ในกิจกรรมของศาสนา การวางแผนธุรกิจจึงต้องศึกษาข้อมูลว่าคนท้องถิ่นกินอะไรใช้อะไร ลองย้อนกลับไปทบทวนว่าประเทศไทยเมื่อ 15 – 20 ปี นิยมอะไร กินอะไร ใช้อะไร ตอนนี้คนเมียนมาก็กำลังฮิตแบบนั้นแหละ

“คนเมียนมาตอนนี้กำลังนิยมติดแอร์ แต่รูปแบบบ้านเป็นบ้านโปร่งโบราณเปิดกว้างรับลมจะมาติดแอร์เลยก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องเกิดการปรับปรุงบ้านให้ติดแอร์ได้รับเหมาก่อนสร้าง ตกแต่งภายใน บริการล้างแอร์ และการเดินสายไฟฟ้าในบ้านก็จะตามมา ลักษณะดังกล่าวนับเป็นอุปสงค์ที่ SME ต้องเรียนรู้”

2. กฎระเบียบท้องถิ่น
เนื่องจากกฎระเบียบท้องถิ่นเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงง่ายมาก โดยเฉพาะกับนักลงทุนต่างชาติที่เรื่องกฎระเบียบมีความแตกต่างจากเมืองไทย ตัวอย่างเช่นสำหรับประเทศไทยสัดส่วนชาวต่างชาติถือหุ้นได้ 49% ถ้าเกินกว่านี้ 49% ถือว่าเป็นบริษัทต่างชาติ ขณะที่เมียนมา หากต่างชาติถือครองหุ้นเพียงแค่ 1% ก็นับว่าเป็นบริษัทต่างชาติ ซึ่งเมื่อเป็นบริษัทต่างชาติก็ต้องกลับไปดูกฎระเบียบว่าบริษัทต่างชาติมีสิทธิทำอุตสาหกรรมใดได้บ้างที่สามารถทำได้ หรือต้องทำร่วมกับคนเมียนมาและมีการแบ่งสัดส่วนการถือหุ้นระหว่างชาวต่างชาติและเมียนมา และมีอุตสาหกรรมไม่น้อยที่การจะได้รับอนุญาตให้ทำได้นั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจเจ้าหน้าที่อีกด้วย

3. ระบบโลจิสติกส์
Eastern Economic Corridor คือ เส้นทางที่ SME ที่ต้องการทำธุรกิจในเมียนมาจึงต้องศึกษา เพราะจะเชื่อมโยงทวาย (เมียนมา) – กาญจบุรี – กรุงเทพฯ – กัมพูชา – เวียดนาม ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่งและคมนาคม จากเดิมที่ใช้เวลาขนส่งสินค้าในเมียนมาเป็นวันๆ ในปัจจุบันเส้นทางถนนเชื่อมโยงระหว่างรัฐของเมียนมาสร้างเส้นหลายสาย ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการขนส่งได้เร็วกว่าเดิมหลายเท่า โดยในอนาคตจะมีการขยายเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจให้ไปถึงเมืองแปรที่จะกลายเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ และยาวไปไกลข้ามโพ้นทะเล ไม่ได้สิ้นสุดที่เมียวดีหรือเมาะละแหม่งอีกต่อไป เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องศึกษาก่อนที่จะเข้าไปทำธุรกิจเพื่อคำนวณเส้นทางขนส่งสินค้า

4. เงินสดสำรองกับกระแสเงินสด
กระแสเงินทุนหมุนเวียน เป็นสิ่งจำเป็นที่หลายคนมองข้าม เพราะที่ผ่านมาธุรกิจ SME ที่เจ๊งไม่ได้เจ๊งเพราะติดหนี้ก้อนใหญ่ แต่เจ๊งเพราะขาดกระแสเงินสด (Cash Flow) สภาพคล่อง เช่น หาก SME หมุนเงินไม่ทัน 50,000 บาท SME สามารถโดนฟ้องล้มละลายได้ SME ต้องไปวิ่งแลกเช็ค ในกรุงเทพฯ SME มีการสำรองเงิน Cash Flow หรือไม่ หากเกิดสถานการณ์ไม่รับรู้รายได้หรือไม่มีรายได้ขึ้น จะมีเงินสำรองใช้เท่าไหร่ ซึ่งปกติ SME ในกรุงเทพฯ หากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้น จะมีเงินสดหมุนเวียนสำรองไว้อยู่ได้ไม่เกิน 30 – 45 วัน เนื่องจากไม่มีใครสำรองเงินหมุนเวียนไว้เยอะ เพราะมีต้นทุน

แต่หากจะลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน SME ต้องมีสายป่านที่ยาว เพราะหาก SME ไม่สามารถเอากำไรการขายออกจากประเทศเพื่อนบ้านได้ก็คือไม่สามารถเอาออกได้เลย และมีระยะเวลาหลายเดือน ในอดีตการเอาเงินออกนอกประเทศใช้เวลาถึง 12 – 14 เดือน แต่ปัจจุบันระบบสถาบันทางการเงินของประเทศเพื่อนบ้านมีการพัฒนามากขึ้น ระยะเวลาการเปลี่ยน Cash Flow ลดลง  ยกเว้นกรณีที่ SME ดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านมีการเตรียมเงินสดสำรองไว้ได้ 6 – 9 เดือน

“หากคุณทำธุรกิจแบบหยุดรับรู้รายได้ 6 – 9 เดือน ได้เมื่อไหร่ นั่นเท่ากับว่า SME มีสายป่านที่ยาวพอที่จะดำเนินธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน”

5. ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ
ธรรมเนียมการแลกเงินและขั้นตอนการปฏิบัติระหว่างธนาคารมีความแตกต่างกัน อยากให้ SME ไทย นึกภาพผู้จัดการสาขาธนาคารไทยเมื่อ 40 ปีก่อน  เวลาลูกค้าไปธนาคารต้องเอากระเช้าไปกราบผู้จัดการธนาคาร ขณะที่ปัจจุบันกลับกันเวลาที่ SME ไปที่ธนาคาร ผู้จัดการสาขาออกมาต้อนรับกดบัตรคิวให้ด้วยซ้ำ วิธีคิดของเมียนมายังเป็นแบบธนาคารไทยเมื่อ 40 ปีก่อน เพราะฉะนั้นหลายเรื่องยังไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการนำเงินออกจากประเทศเมียนมาไม่สามารถทำได้เลย แต่ต้องมีขั้นตอนซึ่งหากธนาคารไทยที่อยู่ในเมียนมาอย่างธนาคารกรุงเทพจะมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาเผื่อสถาการณ์ที่ลูกค้าต้องการนำเงินกลับประเทศไทย หาก SME ไม่มีที่ปรึกษาเป็นธนาคารก่อน  SME แม้จะได้กำไรแต่ไม่สามารถเอาเงินออกนอกประเทศได้

6. สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ
เมียนมาค่อนข้างมีข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภคโดยเฉพาะไฟฟ้า  SME ที่ต้องการเข้าไปตั้งฐานการผลิต จำเป็นต้องกำหนดแนวทางแก้ไขเรื่องไฟฟ้า เนื่องจากอัตราการเข้าถึงไฟฟ้าอยู่ที่  1 ใน 3 ของประชากร เท่ากับว่า 2 ใน 3 ของประชากรไม่มีไฟฟ้าใช้ กลางคืนประชาชนชาวเมียนมาต้องใช้เครื่องปั่นไฟเพื่อดูละครไทย โดยในอนาคตเมียนมาตั้งเป้าหมายว่า ในเมียนมาจะให้ประชากร เข้าถึงไฟฟ้าได้ 100% ในปี 2030

7. กฎระเบียบ
กฎหมายกฎระเบียบย่อมมีความแตกต่าง อย่างในประเทศไทยเป็นระบอบทุนนิยม เพราะฉะนั้นรูปแบบกฎหมายจะเอื้อต่อผลประโยชน์นายจ้าง สังเกตได้เมื่อเกิดคดีฟ้องร้องส่วนใหญ่นายจ้างชนะ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเราระบบกฎหมายยังให้สิทธิพิเศษกับกลุ่มแรงงานสูงกว่านายจ้าง และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาโดยเฉพาะในเมียนมาหลังจากที่นางอองซานซูจีเข้ามาเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อาทิ การออกกฎหมาย MIC ที่มีการบังคับใช้เมื่อเดือนเมษายน 2560 ที่ผ่านมา ทำให้จากนี้ไปเมียนมาไม่ใช่พื้นที่ที่จะลงทุนแล้วฟรีภาษี 5 ปีอีกต่อไป แต่จะมีการแบ่งเป็นโซนเขตเศรษฐกิจพิเศษ และแต่ละโซนก็จะมีระยะเวลาต่างกันออกไป

8. แรงงาน
เรื่องนี้เป็นเรื่องต้องระวังอย่างมาก เพราะการที่ SME คาดหวังเรื่องแรงงานในส่วนของเขตเศรษฐกิจพิเศษดูจะลำบากไปเสียหน่อย เพราะแรงงานไม่มีแล้ว โดยเฉพาะในรัฐมอญ รัฐกะเหรี่ยง และรัฐฉาน เริ่มหาแรงงานยากแล้ว เนื่องจากแรงงานย้ายเข้ามาที่ไทยหมดแล้ว ซึ่งแรงงานที่มีอยู่ไม่มีทักษะการทำงาน SME จำเป็นต้องเตรียมเทรนคนที่นั่นหากมีความคิดจะย้ายฐานการผลิต

9. CSR
มองข้ามไม่ได้เด็ดขาด ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน ไม่ต้องทำใหญ่มากแบบ ปตท. หรือ เอสซีจี เพราะแค่การเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน งานแต่งหรืองานบุญก็สามารถซื้อใจคนในท้องถิ่นได้แล้ว เนื่องจากธุรกิจแถวนั้นเป็นธุรกิจท้องถิ่น สร้างความรู้สึกว่าธุรกิจคุณเป็นส่วนหนึ่งกับเขา หากคุณทำให้พวกเขารู้สึกได้สิทธิประโยชน์อื่นๆ จะตามมาเอง

10. ปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุม
บางครั้งเรื่องปัจจัยภายนอกก็เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ และ SME ต้องเตรียมรับมือให้พร้อมตลอดเวลา อย่างที่ผ่านมาธุรกิจท่องเที่ยวมีตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลง ปี 2017 ตัวเลข 60% ขณะที่การลงทุนในเมียนมาเฉลี่ยชาวต่างชาติเข้าไปลงทุนจากเดิม 9.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในปี 2016 ลดลงเหลือ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัญหาส่วนใหญ่มาจากการรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจให้อยู่ภายใต้การตัดสินใจของนางอองซานซูจี ทำให้หลายเรื่องมีความล่าช้า

บริการสำหรับลูกค้าต้องการทำโฆษณา รับทำ SEO ติดหน้าแรก google/Facebook/IG และเรายังสามารถ รับสอน seo ขั้นพื้นฐานได้ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แฟรนไชส์ Good Green Shop ธุรกิจสำหรับคนใส่ใจสุขภาพ

อาหารคลีนได้รับความนิยมอย่างสูงเนื่องจากปัจจุบันผู้คนใส่ใจสุขภาพมากขึ้น แต่การจะเตรียมอาหารคลีนนั้นจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้และเวลาค่อนข้า...