วันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

คำศัพท์แฟรนไชส์ที่ควรรู้ น่าสนใจ


1. แฟรนไชส์ (Franchise)

แฟรนไชส์ คือ กระบวนการทางธุรกิจที่องค์กรธุรกิจหนึ่งๆ ได้พัฒนาวิธีการและรูปแบบ จนได้รับการพิสูจน์ด้วยระยะเวลาแล้วว่าประสบความสำเร็จในการประกอบการ และการจัดการธุรกิจในระดับหนึ่งและได้ถ่ายทอดสิทธิ์ในการประกอบธุรกิจ ตามวิธีการและรูปแบบดังกล่าวพร้อมกับตัวสินค้าหรือบริการ ให้กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอื่นภายใต้ตราหรือเครื่องหมายการค้า และบริการอันหนึ่งอันใด โดยกระบวนการนี้เกี่ยวข้องกับการทำนิติกรรมระหว่างบุคคล 2 กลุ่มในข้างต้น ในบางกรณีอาจรวมถึงบุคคลอื่นด้วย อธิบายง่ายๆ คือข้อตกลง กันระหว่างเจ้าของธุรกิจ อนุญาตให้ผู้ขอรับสิทธิ์ ดำเนินธุรกิจและบริการภายใต้ชื่อการค้าของตน และปฏิบัติตามรูปแบบการทำธุรกิจ ของเจ้าของสิทธิ์ตามสัญญาที่ตกลงกันไว้

2. แฟรนไชส์ซอร์ (Franchisor)

แฟรนไชส์ซอร์ คือ บุคคลผู้เป็นเจ้าของตราหรือเครื่องหมายการค้าหรือบริการ ซึ่งได้คิดค้นและพัฒนาวิธีการอันได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ประสบความสำเร็จในการประกอบการและการจัดการธุรกิจ ที่สามารถทำเลียนและดำเนินการโดยบุคคลอื่นได้ อธิบายง่ายๆ คือเจ้าของธุรกิจซึ่งอนุญาต ให้ผู้อื่นได้ใช้สิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อของตน ซึ่งก็คือผู้ขายแฟรนไชส์นั่นเอง

3. แฟรนไชส์ซี (Franchisee)

แฟรนไชส์ซี คือ บุคคลซึ่งได้รับสิทธิ์ในการจำหน่ายและการดำนินธุรกิจ ภายใต้รูปแบบและตราหรือเครื่องหมายการค้า หรือบริการอันมีแฟรนไชส์ซอเป็นเจ้าของ โดยแฟรนไชส์ซีที่ร่วมกิจการไม่ได้อยู่ในฐานะของพนักงานหรือลูกจ้าง ตรงกันข้ามแฟรนไชส์ซีจะเป็นเจ้าของกิจการ ที่ทำหน้าที่บริหารงานสาขาตามรูปแบบที่ แฟรนไชส์ซอร์กำหนด และถ่ายทอดให้ซึ่งผู้ที่เป็นแฟรนไชส์ซีจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบ มากกว่าพนักงานโดยปกติ เพราะผลสำเร็จหมายถึง เวลา จำนวนเงินที่ลงทุนไป อธิบายง่ายๆ คือผู้ขอซื้อแฟรนไชส์หรือ ผู้ขอรับสิทธิ์ในการทำธุรกิจ จากเจ้าของธุรกิจที่มีความประสงค์ให้ผู้อื่นมาดำเนินการภายใต้ชื่อของตนนั่นเอง

4. แฟรนไชส์ฟี (Franchise Fee)

ค่าตอบแทนที่เป็นจำนวนเงินที่แน่นอนจะจ่ายก่อนเริ่มดำเนินงาน หรือเรียกว่า ค่าธรรมเนียมแรกเข้า ซึ่งถือว่าเป็นการจ่ายค่าสิทธิ์ต่าง ๆ ให้แก่บริษัทแม่ อธิบายคือค่าธรรมเนียมที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะต้องจ่ายให้กับผู้ขาย แฟรนไชส์ ซึ่งโดยทั่วไปมักจะเป็นการจ่ายเพียงครั้งเดียวในช่วงเริ่มดำเนินกิจการครั้งแรก

5. รอยัลตี้ฟี (Royalty Fee)

เป็นค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายอย่างต่อเนื่องตามสัดส่วนของผลการดำเนินงาน อาจจะเรียกเก็บเป็นเปอร์เซ็นต์ ต่อเดือนหรือต่อปีจากยอดขาย หรือบางทีก็อาจจะเก็บจากยอดสั่งซื้อสินค้าก็มี อธิบายคือค่าธรรมเนียมที่ผู้ขายแฟรนไชส์เรียกเก็บ จากผู้ซื้อแฟรนไชส์โดยมากมักจะคิดเป็นสัดส่วน จากผลการประกอบการของผู้ซื้อแฟรนไชส์

6. แอดเวอร์ไทซิ่ง ฟี (Advertising Fee)

ค่าธรรมเนียมที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะต้องจ่ายให้กับผู้ขายแฟรนไชส์ เพื่อไปใช้ดำเนินการในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งโดยทั่วไปจะขึ้นอยู่กับผู้ขายแฟรนไชส์ว่า จะเรียกเก็บหรือไม่และมีรูปแบบการเก็บแตกต่างกันไป เช่น เก็บเป็นรายเดือน หรือเก็บเป็นรายปี โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นจากยอดขาย

7. แฟรนไชส์แพ็คเกจ ฟี (Franchise package Fee)

ค่าตอบแทนในระบบ หรือเทคนิคต่าง ๆ (เป็นศัพท์ที่ใช้เรียกรวม ๆ ถ้าพูดเมื่อไรก็ให้เข้าใจว่าหมายถึงค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เช่น ค่าโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ค่าอบรม ฯลฯ รวมเบ็ดเสร็จอยู่ในคำ ๆ เดียว)

8. แฟรนไชส์แบบบุคคล (Individual Franchise/Sub-Franchise)

รูปแบบการให้สิทธิ์แฟรนไชส์แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือนิติบุคคลองค์กรหนึ่งองค์กรใด ให้ดำเนินธุรกิจภายใต้เครื่องหมายการค้าหรือบริการจากแฟรนไชส์ซอ เพียงแค่เฉพาะตัวเฉพาะพื้นที่ตามข้อตกลง ไม่สามารถถ่ายทอดสิทธิ์ที่ได้รับมาให้กับบุคคลอื่นได้

9. Single unit Franchise

ลักษณะย่อยของรูปแบบการให้สิทธิ์แฟรนไชส์ Individual Franchise/Sub-Franchise โดย Single unit Franchise เป็นสิทธิ์ในการดำเนินกิจการเฉพาะตัวได้เพียงหนึ่งแห่ง

10. Multi unit Franchise

ลักษณะย่อยของรูปแบบการให้สิทธิ์แฟรนไชส์ Individual Franchise/Sub-Franchise โดย Multi unit Franchise เป็นสิทธิ์ในการดำเนินกิจการเฉพาะตัวได้หลายแห่งภายในพื้นที่กำหนด

11. แฟรนไชส์แบบพัฒนาพื้นที่ (Sub-Area License or Development Franchise)

รูปแบบการให้สิทธิ์แก่บุคคลใดหรือนิติบุคคล ในการทำตลาดแฟรนไชส์ในอาณาเขตที่กำหนด โดยที่ แฟรนไชส์ซีจะสามารถดำเนินธุรกิจที่ได้รับสิทธิ์มาจากแฟรนไชส์ซอมากกว่า 1 แห่ง และจะต้องขยายตลาด แฟรนไชส์ตามสิทธิ์ที่ได้รับมา ภายในระยะเวลาที่ได้ตกลงกันโดยสามารถขายสิทธิ์ที่ได้รับมาต่อให้กับบุคคลอื่นได้

12. แฟรนไชส์แบบตัวแทน (Master Franchise)

รูปแบบการให้สิทธิ์แก่บุคคลใดหรือนิติบุคคลหนึ่ง เป็นรายแรกในอาณาเขตระดับภูมิภาคหรือ ระดับประเทศตามที่กำหนดเพื่อให้บุคคลหรือ นิติบุคคลดังกล่าวดำเนินการขยายสาขา และทำการขยายการให้สิทธิ์หน่วยย่อยทั้งแบบ Individual Franchise หรือแบบ Sub-Area License แก่บุคคลอื่นในพื้นที่ต่อไป


13. คู่มือปฏิบัติงาน (Operation Manual)

คู่มือการดำเนินธุรกิจซึ่งเขียนขึ้นโดยผู้ขายแฟรนไชส์ เพื่อแนะนำถึงขั้นตอนต่าง ๆ ในการทำงาน และการทำธุรกิจ สำหรับผู้ซื้อแฟรนไชส์ โดยปกติแล้ว Operation Manual จะมีข้อมูลที่ครอบคุมในทุกๆ ด้านของธุรกิจนั้น ซึ่งอาจมีเพียงเล่มเดียว หรือหลายเล่มก็ได้


14. การเลือกทำเล (Location Selection)

แฟรนไชส์ซอที่ต้องคัดเลือกผู้ลงทุนที่รอบคอบ จะต้องมีการตรวจสอบพื้นที่และตรวจสอบความเป็นไปได้ในการลงทุน การทำการสำรวจที่ต้องมองกลุ่มลูกค้า เป็นการสร้างความมั่นใจทั้งแฟรนไชส์ซอร์และผู้ต้องการลงทุน ที่จะเห็นภาพการลงทุน ล่วงหน้าที่คาดการไว้ชัดเจน การสำรวจที่ดีก็ต้องมีการใช้งบประมาณและเวลาในการจัดทำอย่างรอบคอบเช่นกัน


15. ภูมิศาสตร์ (Geographic Areas)

พื้นที่ที่ต่างกันในทางภูมิศาสตร์จะเป็นตัวกำหนดในเรื่องแผนการตลาด การขยายงาน ที่จะต้องมองภาระที่จะเกิดขึ้น ตามระยะห่างของสาขาความสามารถในการควบคุม ระบบการขนส่งการหาวัตถุดิบ การอำนวยความสะดวกต่างๆให้กับแฟรนไชส์ซี หลักการคิดค่าแฟรนไชส์จะรวมค่าใช้ต่างๆไว้ก่อน การวางแผนในเขตพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการขยายตลาด ก็จะมีราคาสูงถ้าต้องการเน้นเก็บเกี่ยวประโยชน์เต็มที่ แต่ถ้าต้องการให้พื้นที่เป้าหมายนั้นเป็นตัวเร่งการขยายงาน ก็อาจจะวางราคาแฟรนไชส์ให้มีการจูงใจนักลงทุนมากขึ้น เช่นการให้ส่วนลด หรือ ลดค่าธรรมเนียมลง


16. ลักษณะทำเล (Specific Location)

ในแหล่งทำเลที่มีความเป็นไปได้ไม่ต้องการสร้างกิจกรรมการตลาดมากเกินไป ค่าแฟรนไชส์ก็อาจมีการจัดปรับให้ลดลง หรือคงตามมาตรฐาน แต่ในขณะที่เป็นพื้นที่อับต้องเน้นการส่งเสริมการขาย และทีมงานในการปรับสภาพตลาด ต้นทุนการจัดการที่สูงกว่า การจัดค่าธรรมเนียมก็อาจสูงเพิ่มขึ้น


17. ความเชี่ยวชาญ ความรู้เฉพาะ (Know – How)

ค่าการคิดค้นที่เป็นความรู้ความชำนาญพิเศษที่ต้องถ่ายทอดให้แฟรนไชส์ซีรับทราบ การกำหนดมูลค่าอาจรวบรวมจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการพัฒนา ค่าความนิยม ประโยชน์ทางการเงินที่ควรได้จากธุรกิจ เมื่อได้ยอดโดยรวมแล้วก็จะต้องมาหารเฉลี่ยกับ จำนวนสาขาที่คาดว่าจะสร้างขึ้นมาในตลาด เท่ากับเป็นการกระจายต้นทุนในแต่ละสาขานั่นเอง


18. ค่าเครื่องหมายการค้า และความนิยม (Trademark)

เป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนสร้างความเชื่อถือในตราสินค้า ที่ต้องสร้างด้วยระยะเวลาและงบประมาณ เช่นเดียวกันกับค่าความรู้ คือ จากยอดเต็มที่ได้นำมาหารเฉลี่ยในแต่ละสาขาตามจำนวนสาขาคาดการณ์


19. ค่าการบริหารงานทีมงานสนับสนุนของส่วนกลาง Organization Cost

เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการบริหารงานส่วนกลาง ที่บริษัทแม่จะต้องเรียกเก็บมาจากแฟรนไชส์ซีที่ จะทำให้การบริหารงานระบบทั้งหมดเป็นไปได้ด้วยดี ค่าการบริหารงานนี้อาจเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจาก การวางระบบงานด้านคอมพิวเตอร์ที่ต้องใช้ร่วมกัน ค่าใช้จ่ายระหว่างสร้างทีมงานที่ต้องจัดระบบงานก่อนที่จะสามารถสร้างรายได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นโดยรวมนี้จะต้องแบ่งเฉลี่ยต่อสาขาเช่นเดียวกันด้วย


20. ค่าใช้จ่ายด้านอื่น Others

ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นอื่นๆ เช่น ค่าที่ปรึกษา ค่าทนาย ค่าภาษีค่าธรรมเนียมต่างที่จะต้องเกิดขึ้นในการสร้างธุรกิจขึ้นมา อาจจะคำนวณจัดแบ่งค่าใช้จ่ายตามจำนวนสาขาเช่นกัน



21. ค่าใช้จ่ายจากการหาผู้ร่วมลงทุน และทีมงานที่ต้องทำการคัดเลือก Recruitment

เป็นค่าใช้จ่ายในการคัดเลือกและหาผู้ที่ร่วมลงทุนในระบบจะคิดตามรายสาขา เป็นค่าใช้จ่ายประมาณการต่อสาขา


22. ค่าใช้จ่ายจริงที่ต้องใช้จ่ายในการสำรวจพื้นที่ และสำรวจตลาดเพื่อการเปิดร้าน Site Selection

เป็นค่าใช้จ่ายในการสำรวจและหาทำเลในการเปิดสาขา ของแฟรนไชส์ซีที่ตกลงเปิดร้านเพื่อหาความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจ เป็นค่าใช้จ่ายประมาณการต่อสาขา



23. ค่าฝึกอบรมต่างๆ Training

เป็นค่าใช้จ่ายในระบบการฝึกอบรม และสร้างกระบวนการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ปฏิบัติงานทั้งระบบ เป็นค่าใช้จ่ายประมาณการต่อสาขา


24. ค่าใช้จ่ายทีมงานในการควบคุมการก่อสร้างร้าน Decoration Control

เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการส่งทีมงานตรวจสอบ และควบคุมการก่อสร้างร้านและอาจจะรวมค่าออกแบบงานไว้ด้วย เป็นค่าใช้จ่ายประมาณการต่อสาขา


25. ค่าใช้จ่ายสำหรับทีมงานที่ต้องสนับสนุนการเปิดสาขา Assistance Team

เป็นการจัดจ้างทีมงานที่จะต้องช่วยเหลือระหว่าง การดำเนินการเพื่อการควบคุมคุณภาพ การแก้ไขปัญหาในด้านเทคนิค การจัดการต่างๆ เป็นค่าใช้จ่ายประมาณการต่อสาขาเมื่อได้ผลรวมของค่าใช้จ่ายดังกล่าวมารวมกัน ก็จะได้ตัวเลขที่ควรเป็นของค่าธรรมเนียมแรกเข้าของระบบแฟรนไชส์หรือที่เรียกว่า Franchise Fee หรือ Initial Fee ค่าแฟรนไชส์ฟีนี้จะเป็นจำนวนเงินที่รวมกับ การลงทุนด้านอื่นๆและควรจะต้องเผื่อ เงินสดที่จะต้องจัดเตรียมสำหรับการดำเนินธุรกิจเป็น เงินหมุนเวียนในการดำเนินการด้วย ทั้งหมดจะเป็นจำนวนเงินที่ควรจะต้องมีในการลงทุนในกิจการสุทธิ


26. Product and Brand Franchising

ระบบแฟรนไชส์ที่ผู้ผลิตสินค้าให้สิทธิบุคคลอื่น ในการขยายสินค้าที่ผลิตขึ้นโดยแฟรนไชส์


27. Business Format Franchising

ลักษณะนี้เป็นการให้สิทธิบุคคลอื่นในการดำเนิน ธุรกิจเพื่อขายสินค้าหรือบริการโดยใช้เครื่องหมายการค้าของแฟรนไชส์ซอร์ และสิ่งสำคัญที่ต่างจากประเภทแรกคือการใช้ระบบการดำเนินธุรกิจที่พิสูจน์แล้วของ แฟรนไชส์ซอร์


28. Conversion Franchising

เป็นระบบแฟรนไชส์ที่พัฒนามาจากแฟรนไชส์ประเภท Business Format โดยการออกแบบระบบ เพื่อเปลี่ยนร้านค้าอิสระที่มีอยู่ในระบบนั้นๆให้เข้ามาร่วมในระบบแฟรนไชส์ เพื่อได้ประโยชน์ร่วมกันทางการค้าและทำโฆษณาร่วมกันในระดับประเทศ


29. Acquisition (การเข้าซื้อกิจการ)

การที่บริษัทหนึ่งได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือเข้าควบคุมบริษัทอื่นบางส่วนหรือทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจากการควบรวมธุรกิจ (merger) คือการเข้าซื้อกิจการไม่จำเป็นต้องเป็นการรวมบริษัท (amalgamation) หรือการควบรวมธุรกิจ (merger) แต่เป็นการรวมสินทรัพย์ของทุกบริษัทจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ (consolidation) แม้ว่าการเข้าซื้อกิจการจะมีการเปลี่ยนการเข้าควบคุมโดยสิ้นเชิง แต่บริษัทที่เกี่ยวข้องอาจจะยังคงดำเนินการเป็นอิสระอยู่ แม้กระนั้นการควบคุมบริษัทร่วมกันเพื่อแสวงหากำไรให้ได้มากที่สุด และเป็นเรื่องที่องค์กรกำกับดูแลการแข่งขันให้ความสนใจ


30. Holding Company (บริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อมาควบคุมการเงินของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว)

บริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อมาควบคุมการเงินของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว ซึ่งเป็นบริษัทที่ใช้เงินทุนเพียงอย่างเดียว เพื่อให้ได้ประโยชน์จากบริษัทที่กำลังดำเนินธุรกิจอยู่ แม้ว่าวัตถุประสงค์หลักของบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อมาควบคุมการเงินของบริษัท ที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้วมิใช่เพื่อดำเนินการ แต่โดยทั่วไปจะมีผู้แทนของบริษัท holdingเข้าไปเป็นคณะกรรมการบริหารบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอยู่


31. Homogeneous Product (ผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกัน)

ผลิตภัณฑ์จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกันได้ เมื่อทดแทนกันได้อย่างสมบูรณ์และผู้ซื้อไม่เห็นความแตกต่าง ระหว่างผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายโดยบริษัทที่ต่างกัน ราคาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดประการเดียวซึ่งบริษัทที่ผลิตสินค้าที่เหมือนกันแข่งขันกัน อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์แสดงว่าเมื่อบริษัทเช่นนี้มีจำนวนน้อย การมีผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกันอาจช่วยให้การรวมหัวกันทำได้ง่าย และการทำความตกลงร่วมกันอาจพบในผลิตภัณฑ์ เช่น ซีเมนต์ แป้ง เหล็ก และน้ำตาล


32. Price Fixing Agreement (การทำความตกลงร่วมกันกำหนดราคา)

เป็นการทำความตกลงร่วมกันกำหนดราคา ระหว่างผู้ขายเพื่อจำกัดการแข่งขันระหว่างบริษัท และทำให้มีกำไรสูงขึ้น การทำความตกลงร่วมกันกำหนดราคาเกิดจากบริษัท พยายามที่จะมีพฤติกรรมผูกขาด


33. Price Leadership (การเป็นผู้นำด้านราคา)

ราคาและการเปลี่ยนแปลงราคาที่เกิดขึ้น จากการกระทำของบริษัทที่มีอำนาจเหนือตลาดหรือ
บริษัทอื่นที่ได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำและมีบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเป็นผู้ตาม เมื่อการเป็นผู้นำด้านราคาสินค้าเกิดขึ้นเพื่อช่วยในการสมรู้ร่วมคิดกันทำได้ง่ายขึ้น ผู้นำด้านราคามักจะกำหนดราคาสูงจนบริษัทที่มีประสิทธิภาพน้อยที่สุดในตลาด อาจมีผลกำไรเหนือระดับราคาที่มีการแข่งขัน


34. Product Differentiation (ความแตกต่างของสินค้า)

สินค้าจะมีความแตกต่างกันเมื่อมีลักษณะทางกายภาพ คุณภาพ ความทนทาน หรือการบริการ ภาพลักษณ์ และสถานที่ทางภูมิศาสตร์ต่างกัน บริษัทที่มีการโฆษณาหรือกิจกรรมส่งเสริม การขายเพื่อให้สินค้าของตนมีความแตกต่าง ความแตกต่างของสินค้าอาจทำให้เกิดอุปสรรคใน การเข้าสู่ตลาดแต่แล้วอาจช่วยให้การแทรกเข้าตลาด ทำได้ง่ายขึ้นโดยบริษัทที่มีสินค้าซึ่งผู้ซื้ออาจ ชอบมากกว่าสินค้าที่มีอยู่ ควรสังเกตว่าสินค้าที่มีความแตกต่าง (differentiated products) ไม่เหมือนกับสินค้าที่มีคุณสมบัติต่างกัน (heterogeneous product) เนื่องจากสินค้าที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันหมายถึงสินค้าที่ต่างกัน และทดแทนไม่ได้ง่าย ในขณะที่สินค้าที่แตกต่างกัน (differential product) สามารถทดแทนกันได้บางระดับ

ที่มา : อ.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์

บริการสำหรับลูกค้าต้องการทำโฆษณา รับทำ SEO ติดหน้าแรก google/Facebook/IG และเรายังสามารถ รับสอน seo ขั้นพื้นฐานได้ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แฟรนไชส์ Good Green Shop ธุรกิจสำหรับคนใส่ใจสุขภาพ

อาหารคลีนได้รับความนิยมอย่างสูงเนื่องจากปัจจุบันผู้คนใส่ใจสุขภาพมากขึ้น แต่การจะเตรียมอาหารคลีนนั้นจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้และเวลาค่อนข้า...